วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 18, 2553

AsMeWriteIt: ปากแพรกย่านเก่า บนเงาของวันวาน

AsMeWriteIt: ปากแพรกย่านเก่า บนเงาของวันวาน: "เข็มนาฬิกาชี้เวลาบ่ายสอง หากกระแสลมหนาวที่พัดพลิ้วเอื่อยมาเป็นระยะ ผมจึงเดินเรื่อยเปื่อยไปตามริมบาทวิถีได้อย่างไม่ลำบากนัก ภาพอาคารเก่า สลับ..."

ปากแพรกย่านเก่า บนเงาของวันวาน

เข็มนาฬิกาชี้เวลาบ่ายสอง หากกระแสลมหนาวที่พัดพลิ้วเอื่อยมาเป็นระยะ ผมจึงเดินเรื่อยเปื่อยไปตามริมบาทวิถีได้อย่างไม่ลำบากนัก ภาพอาคารเก่า สลับภาพวิถีชีวิตชุมชน  มองดูราวกับผมกำลังเดินทางย้อนเวลาสู่เมื่อช่วงครึ่งศตวรรษที่แล้ว หรือเดินอยู่ในฉากของหนังพีเรียดสักเรื่อง




บนถนนสายสั้นที่ยาวร่วม ๒ กิโลเมตร  ใครเลยจะนึกว่าได้จดจารร่องรอยของนักเดินทางมากมาย  กลายเป็นเรื่องเล่าให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ถ่ายทอดต่อลูกหลานถึงความทรงจำอันน่าประทับใจ






ขณะที่ใครหลายคนนิยมการเปลี่ยนแปลง  ชมชอบความศิวิไลซ์ ทว่าผมกลับพอใจเลือกจะเก็บจำบางห้วงเวลาแห่งอดีตไว้  มันไม่ใช่เรื่องของการจ่อมจม  มันไม่ใช่เรื่องของการไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก  แต่เป็นเพราะสิ่งเก่าๆเหล่านี้ มันมีค่าพอสำหรับการหวงแหน ดูแล  และเก็บมันไว้ในช่วงผ่านของกาลเวลา




กาญจนบุรีมีหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับมาจากสมัยขอมเรืองอำนาจ ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผมรับรู้จากชั่วโมงสังคมสมัยประถมว่า นี่คือเมืองหน้าด่านสำคัญที่มีผลต่อความอยู่รอดของไทย และเป็นสมรภูมิระหว่างไทยกับพม่าอยู่เนืองๆ อิทธิพลของสงครามทำให้เกิดการอพยพโยกย้าย รวมไปถึงการกวาดต้อนเทครัว จึงไม่แปลกที่กาญจนบุรีจะเป็นแหล่งรวมของคนหลายเชื้อชาติ ทั้ง ไทย มอญ ญวน จีน  ปกากะญอ



พุทธศักราช ๒๓๗๔  รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายเมืองจากเดิมทึ่ทุ่งลาดหญ้า  มายังตำบลริมแม่น้ำแควใหญ่ ป้อมปราการ กำแพงเมือง ตัวอาคารเก่าแก่ต่างๆ กับผู้คนมากมายคึกคัก เป็นสิ่งที่บอกผู้มาเยือนได้ดีว่า ถนนปากแพรกแห่งนี้คือจุดต่อยอดความรุ่งเรืองของเมืองกาญจน์อย่างแท้จริง




ผมเริ่มต้นจากห้องแถว ๓ คูหาสีเหลืองสดสะดุดตา "บ้านสิทธิสังข์" ที่ปัจจุบันเปิดเป็นร้านกาแฟสด ปรับปรุงตัวบ้านให้ดูร่วมสมัย แต่การออกแบบตกแต่งยังคงความเก่าไว้ได้แบบเนียนๆ โค้งอาร์กบนชั้นสองของตึก ตรึงเท้าผมให้ยืนพิจารณาอยู่เนิ่นนาน ฉลุไม้เหนือกรอบประตู กับภาพปูนปั้นลายก้านขด บอกถึงฝีมืออันปราณีตของช่าง กับรสนิยมของผู้อยู่อาศัย



ฝั่งตรงข้ามกันคือโรงแรมสุมิตราคาร  โรงแรมแห่งแรกในกาญจนบุรี อดีตที่นี่คือแหล่งรวมผู้คน ทั้งที่เป็นผู้ผ่านทาง และผู้ติดต่อราชการ ปัจจุบันห้องแถวไม้ ๕ คูหากลายเป็นร้านขายอาหารสัตว์ ส่วนข้างบนแยกห้องปล่อยให้เช่า






เดินอีกไม่นานผมผ่านมาถึง "อาคารสิริโอสถ" นี่คืออาคาร ๓ ชั้น หลังแรกๆบนปากแพรก สถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าทำให้ผมหยุดดูด้วยความสนใจเป็นพิเศษ และยิ่งทึ่งหนักไปอีก เมื่อรู้ว่า ตึกกึ่งปูนกึ่งไม้หลังนี้ก้าวผ่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาอย่างน่าจดจำ




พ.ศ. ๒๔๘๕ ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองกาญจน์เพื่อสร้างทางรถไฟไปพม่า ปากแพรกคือแหล่งสินค้าที่ใกล้ค่ายทหารที่สุด ร้านค้าหลายแห่งถูกผูกขาดการค้ากับญี่ปุ่น รวมถึงร้านสิริโอสถแห่งนี้


แม้ความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นจะเป็นที่เลื่องชื่อ หากไม่ทำให้น้ำใจและความเอื้ออาทรของชายนาม "บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์" ลดน้อยลงได้ การช่วยเหลือเป็นไปในรูปของ ข้าวของสารพัดที่ถูกซุกซ่อนในเข่งผัก เงินทองที่ให้หยิบยืมโดยไม่รู้โอกาสจะได้คืน และความที่ทหารญี่ปุ่นไว้ใจให้เข้าไปส่งของได้ถึงในค่าย นายบุญผ่องจึงมีหน้าที่ส่งจดหมายลับให้กับองค์กรต่างๆ อย่างองค์การลับวี (V.MEN CLUB)




หลังสงครามผ่านพ้น นายบุญผ่องย้ายมาปักหลักที่กรุงเทพ ประกอบธุรกิจรถเมล์โดยสารจากรถเกือบ ๒๐๐ คันของกองทัพญี่ปุ่นที่เหลือจากสงคราม ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรยกให้เป็นการตอบแทน นี่คือความซาบซึ้งใจที่มีต่อคนเล็กๆคนหนึ่งบนถนนปากแพรก ไม่รวมถึงการได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ และยศพันโทจากกองทัพอังกฤษ


จากร้านสิริโอสถ เดินต่อไปถึงร้านชวนพานิช ผมแวะนั่งพูดคุยกับลุงสุรพล ตันติวานิช เจ้าของร้าน เขาชี้ชวนให้ดูตู้สินค้าไม้สักติดกับผนัง มันไม่เคยมีปัญหาให้ต้องซ่อมแซมแต่อย่างใด "บ้านตึกแต่ก่อนนั้นสร้างดี ใช้ของดี เลยทนนาน" ลุงสุรพลว่าอย่างนั้น


ติดกันคือร้านมาโนชราดิโอ  ที่เจ้าของร้านเป็นญาติกับลุงสุรพล ซึ่งต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อก่อนใครอยากทันสมัยก็ต้องมาที่นี่ แต่วันนี้ที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตคืบคลานมาเยือน คงไม่มีใครถวิลหาร้านค้าที่มีสัมพันธภาพระหว่างคนซื้อคนขายแบบนี้อีกแล้วกระมัง


 







 ผมเลาะผ่านความคึกคักของปากแพรกจนมาถึงสี่แยกเล็กๆ ซ้ายมือไปลงแม่น้ำ ขวามือเป็นวันเวย์ มองเห็นตึกแถวที่สร้างโดยตระกูลตันติวานิชยาวเหยียด ผมเดินต่อไปจนถึงโรงแรมกาญจนบุรีอันคร่ำเก่า แต่ตึก ๓ ชั้นที่สร้างจากปูนพอร์ตแลนด์ทั้งหลัง ยังคงความขรึม
ขลังไม่ต่างจากวันวาน  ฟากตรงข้ามคือบ้านฮั้วฮง บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้นสวยเนี้ยบ บ่งบอกว่าผู้ต่อยอดดูแลให้ความใส่ใจบ้านหลังนี้เพียงใด










เพราะเวลาจำกัด ผมเลยไม่อาจแวะพักที่ใดได้อีก รีบรุดฝีเท้าไปจนเห็นวัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือ อยู่ไม่ไกล  ห้องแถวแถบปลายๆ ปะปนกันไปทั้งเก่าคร่ำและที่ได้รับการดูแลสะอาดสอ้าน บางหลังเป็นฝีมือช่างเวียดนามโบราณ  บอกการลงหลักปักฐานของคนญวนไว้ตามโค้งประตู บานเฟี้ยม ทุกส่วนโทรมทรุดซีดเก่า ราวกับจะย้ำให้เราตระหนักถึงสัจจธรรมแท้จริงของคำว่าเวลา




เมื่อมองจากวัดเหนือย้อนกลับมายังปากแพรก ผมเห็นถนนสายหนึ่งที่เป็นตัวของตัวเองมาถึง ๑๗๗ ปี มิได้มีเพียงอาคารบ้านเรือนที่ล่วงผ่านคืนวันอันยายนาน แต่ยังมีแววตาอีกหลายคู่ที่ก้าวผ่านเวลานั้นมาพร้อมกัน และพร้อมจะมองย้อนเข้าไปในชีวิตที่ผ่านพ้นมาอย่างปีติสุข ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะดำเนินไป หรือจบลงเช่นใดก็ตาม




วันจันทร์, พฤศจิกายน 08, 2553

ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

การโดยสารรถไฟ ถือเป็นเสน่ห์ของการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง สู่จังหวัดชายแดนตะวันตกแห่งนี้  แม้ใช้เวลาค่อนข้างนาน หากทิวทัศน์งดงามตลอดสองข้างทางรถไฟ ถือเป็นรางวัลตอบแทนอันแสนจะคุ้มค่า











 ทิวทัศน์ตลอดสองทางรถไฟ



ไม่เพียงผู้มาเยือนจะตื่นตากับพรรณไม้นานาชนิด  ทางรถไฟตั้งแต่สถานีชุมทางหนองปลาดุกไปจนถึงสถานีน้ำตก ยังเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่คนทั่วโลกรู้จักดีในนาม  "ทางรถไฟสายมรณะ"  นักเดินทางสามารถเหยียบย่ำตามรอยทางที่เหล่าเชลยศึกเคยล่วงผ่านด้วยความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสมาแล้ว



รู้จักกับทางรถไฟสายมรณะ

พลันที่ญี่ปุ่นประกาศ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" การบุกยึดประเทศแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มต้นขึ้น พม่าคือหนึ่งในดินแดนสมรภูมิ ที่ทัพอาทิตย์อุทัยใช้ผ่านไปตีอังกฤษที่อินเดีย

เมื่อเส้นทางลำเลียงทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาถูกโจมตีบ่อยครั้ง  กองทัพญี่ปุ่นจึงมีมติให้สร้างทางรถไฟเชื่อมไทยกับพม่า โดยเริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก  จังหวัดราชบุรี สิ้นสุดที่สถานี ธันบูซายัตในประเทศพม่า  ระยะทางทั้งสิ้นสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในเขตไทย ๓๐๓. ๙๕ กิโลเมตร

แรกเริ่มญี่ปุ่นตั้งใจใช้เครื่องมือก่อสร้างและยุทโธปกรณ์จากประเทศตัวเอง แต่เมื่อเรือลำเลียงโดนรบกวนบ่อยครั้ง  กอปรกับ "เบื้องบน" เร่งรัดให้รีบสร้างทางรถไฟสายนี้ให้เสร็จโดยเร็ว  บทสรุปสุดท้ายจึงลงเอยด้วยความโหดร้าย และการล้มตายของเหล่าเชลยศึก กับกรรมกรรับจ้างนับหมื่นนับแสน  ถึงขนาดมีคำเปรียบเทียบที่ว่า  "หนึ่งไม้หมอนเท่ากับหนึ่งชีวิต"


หลังสงครามสงบ  ทางการอังกฤษรื้อถอนทางรถไฟจากด่านเจดีย์เข้ามา ต่อมารัฐบาลไทยได้ขอซื้อทางรถไฟคืนจากประเทศสัมพันธมิตร ทำการปรับปรุงเส้นทางใหม่  เปิดใช้เส้นทาง หนองปลาดุก-กาญจนบุรีในช่วงแรก  จนพ.ศ. ๒๔๙๒ จึงขยายเส้นทานถึงสถานีน้ำตก อันเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะในปัจจุบัน ส่วนเส้นทางที่หลงเหลืออื่นๆ ยังมีร่องรอยให้พบเห็นได้ที่  ช่องเขาขาด ด่านเจดีย์สามองค์ ค่ายไทรโยค


ขบวนรถไฟ ธนบุรี-น้ำตกมีวิ่งทุกวัน วันละ ๒เที่ยว เที่ยวแรกออกเวลา ๐๗.๔๕น. อีกขบวนผมไม่แน่ใจนัก ลองสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๑๖๙๐ วันเสาร์-อาทิตย์มีขบวนรถไฟพิเศษนำเที่ยว แต่ต้องขึ้นที่หัวลำโพง

๐๗.๔๐ คือเวลาขบวนรถธรรมดา ๒๕๗ เข้าเทียบชานชาลา  กว่าขบวนรถจะออกได้ก็เกือบแปดโมง ซึ่งอันนี้ผมชินเสียแล้ว เวลาเดินรถไฟช่างไม่แน่อนเสียจริงๆ

ผมเลือกนั่งซ้ายมือของขบวนรถ เพราะเจ้าถิ่นเมืองกาญจน์แนะนำมาว่า นั่งซ้ายมือเห็นวิวสวยกว่าอีกด้านหนึ่ง  ราวเก้าโมง รถถึงนครปฐม ถ้าใครเริ่มหิว ที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้านำของกิน-น้ำ้ดื่มขึ้นมาเร่ขาย  ผมลองกินลูกชิ้นทอดไม้ละสิบบาท รสชาติถือว่าพอใช้ได้  แต่พกเสบียงมาเองน่าจะดีกว่า


ออกจากนครปฐม ภาพทุ่งหญ้าทุ่งนาเขียวขจีทยอยอวดโฉมเป็นระยะ  เมื่อถึงสถานีบางตาล ตึกรามบ้านช่องไม่มีให้เห็นแล้ว  ท้องฟ้าสีฟ้า ทุ่งหญ้าสีเขียว ฝูงวัวยืนเล็มหญ้าสบายใจ บางตัวก็นอนเล่นรับลมเย็นที่พัดโชยมา  อ้อ ช่วงสถานีบางตาลมีทิวสนลู่รับลมให้เห็นทั้งสองฝั่งด้วย



ทิวสนที่สถานีคลองบางตาล




ทิวสนด้านขวามือรถไฟ

ถึงกาญจนบุรีเกือบสิบเอ็ดโมง  รอหลีกรถไฟท่องเที่ยวไปสิงคโปร์อีก ๓๐นาที  ที่จริงน่าจะประกาศให้ผู้โดยสารรู้ พราะบางคนไม่เคยมากาญจน์ ก็งงไปเถอะรถไฟจอดทำไมตั้งนาน

พบทิวเขาแรก ณ ที่หยุดรถทุ่งทอง

และทิวเขาต่อๆไป ...






ออกจากกาญจนบุรีมุ่งสู่สะพานข้ามแม่น้ำแคว จุดนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่ไปเที่ยวถ้ำกระแซ ตู้รถไฟที่เงียบสงบก็เริ่มจอแจครึกครื้นมีชิวิตชีวาขึ้นมา


"สะพานข้ามแม่น้ำแคว"
ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่ง  เริ่มต้นจากการสร้างสะพานไม้ลำเลียงอุปกรณ์ต่างๆข้ามไปก่อน โดยใช้วิธีตอกซุงลงแม่น้ำ ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะสร้างช่วงแม่น้ำแควแห้งพอดี จากนั้นจึงสร้างสะพานเหล็กตามหลัง ปัจจุบันแนวสะพานไม้เดิมอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลก ใกล้ๆกับสะพานแควใหญ่ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เล่าว่า ช่วงปี ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕ ยังเห็นแนวสะพานไม้ได้ชัดเจนตลอด








ในที่สด  ผมก็มาถึงจุดสำคัญจุดหนึ่งของทางรถไฟมรณะ  นั่นคือสถานีถ้ำกระแซ เส้นทางนี้เป็นช่วงยากอีกช่วงหนึ่งของการก่อสร้าง  ไหนจะด้านหนึ่งเป็นโตรกผาสูง  ไหนจะด้านหนึ่งเป็นลำเเควน้อยเชี่ยวกราก ถ้านักท่องเที่ยวเลือกนั่งซ้ายมือสุดท้ายขบวน จะสามารถถ่ายภาพรถไฟแล่นเลียบไปตามโค้งหน้าผาได้เห็นทั้งขบวน


ที่ถ้ำกระแซนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินชมภายในถ้ำ  หรือเดินเล่นตามทางรถไฟ  แต่ข้อควรระวังในการเดินตามทางรถไฟ คือ ต้องเช็กเวลากับนายสถานีให้ดีๆ มิฉะนั้นเดินๆอยู่ อาจจ๊ะเอ๋กับหัวรถจักรเข้าได้  อีกทั้งต้องคอยระวัง รถจักรยานกับรถโยกที่อาจมีสวนมาเป็นระยะ สุดท้ายคือลิงจ๋อเจ้าถิ่น ถ้าอยากให้อาหารลิงอย่าให้กับมือ และอย่าเก็บอาหารใส่กระเป๋า เพราะถ้ามันกินไม่อิ่ม มันจะแย่งกระเป๋าคุณไปหาของกินเอง ถ้าคิดแย่งกลับอาจโดนมันขู่และสู้ ชนิดไม่เลิก

แม่น้ำแควน้อย ที่ถ้ำกระแซ

















สุดทางที่สถานีน้ำตกประมาณบ่ายโมง แวะหาอาหารใส่ท้องก่อนเดินทางไปน้ำตกไทรโยคน้อย ที่นี่มีรถสองแถววิ่งบริการตลอดวัน หรือชอบสองล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็มีบริการเช่นกัน  แต่จะเลือกไปทานมื้อเที่ยงที่ตัวน้ำตก หรืออุทยานแห่งชาติไทรโยคก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

น้ำตกไทรโยคสวยงดงามเพียงใดนั้น  สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้ทรงประพันธ์เพลงเขมรไทรโยคไว้ บรรรยายถึงความงามของสายน้ำตกได้เป็นอย่างดี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้าเอง ก็เสด็จประพาสชมน้ำตกถึงสองครั้ง แสดงถึงความพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง

ขบวนรถ ๒๕๗ถึงสถานีน้ำตก หยุดพักราว๒๐นาทีก็ตีกลับกรุงเทพ รถไฟกลับกรุงเทพออกอีกครั้ง ๐๕.๒๐ของทุกวัน นอกจากนี้ยังมีรถไฟท้องถิ่นวิ่งระหว่างน้ำตก- กาญจนบุรีอีกด้วย สอบถามเวลาที่นายสถานีรถไฟน้ำตกอีกครั้งก่อนขึ้นขบวนรถ  เพราะอย่างที่บอกแต่แรก  รถไฟไทยถึงเก๊าะช่าง  ไม่ถึงเก๊าะช่าง จริงๆนะเออ












วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 04, 2553

ที่นี่ กาญจนบุรี!

กาญจนบุรี  ยินดีต้อนรับ





ผมรักเมืองกาญจน์...
ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ผมไม่อาจทราบ  อาจเป็นเพราะเสน่ห์ "เพชรพระอุมา" ที่คุณพนมเทียนร่ายสะกด  หรืออาจเป็นเพราะภาพสะพานข้ามแม่น้ำแควจากปกหนังสือเก่า  ที่ผมรื้อได้จากตู้หนังสือของพ่อ   เมื่อสมัยยังเป็นเด็กเจ็ดแปดขวบ













มนต์ปู่เจ้าสมิงพราย ดลใจพระลอให้อยากยลโฉมพระเพื่อนพระแพงฉันใด คำว่า "กาญจนบุรี" ก็ดลใจผม อยากไปชื่นชมบ้านเมืองแห่งชายแดนตะวันตกฉันนั้น  แต่กว่ามนต์ปู่เจ้าจะดลใจผมสำเร็จก็กินเวลาไปถึงพ.ศ. ๒๕๔๐  และครั้งนั้นแทบไม่อาจนับได้ว่าเป็นการไปเมืองกาญจน์  เพราะผมได้แคนั่งรถผ่านตัวเมืองเพื่อไปทองผาภูมิ


เวลาผ่านไปสิบปีเศษ มนต์ปู่เจ้าทำงานอีกครั้ง  ผมร้อนกายใจไม่ต่างจากคราวก่อน โชคดีพอหาเวลาปลีกตัวจากการงานได้ ผมจึงไม่รอจะกลับมายืนทีเก่า ชื่นชมความงดงามธรรมชาติ  ซึมซาบวิถีชีวิตชาวบ้าน เดินเตร็ดเตร่เรื่อยเปื่อยโดยไม่มีเวลาผูกมัดอย่างชาวเมือง ภาพเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากสิบปีที่แล้ว  อาจมีความเจริญแปลกหูแปลกตาเพิ่มขึ้นบ้าง หากนั่นก็ไม่ทำให้ความสวยงาม และความเป็นมิตรของชาวบ้านเมืองกาญจน์ลดลง







    สองวันในเมือง
กาญจน์สั้นเกินไป ถ้าคิดจะเที่ยวไปให้ทั่วจังหวัด อย่าลืมว่า นี่เป็นจังหวัดใหญ่สำดับสามของไทย  รองจากเชียงใหม่ และนครราชสีมา   ผมจึงเลือกไปไทรโยคในวันแรก  พักแรมที่อุทยานหนึ่งคืน  เช้ากลับเข้าตัวเมือง ไหว้พระวัดสำคัญ รำลึกอดีตเมืองกาญจน์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  เดินเที่ยวชุมชนเก่าแก่  นับว่ามาที่เดียวได้เที่ยวครบทุกอย่างจริงๆ


สำหรับนักเดินทาง  ผมคงแนะนำได้แต่รถสาธารณะ  มีรถทัวร์ขึ้นได้ที่ทั้งสายใต้ใหม่และเก่า  ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ที่หมอชิตก็มีรถทัวร์บริการ เช่นเดียวกัน  แต่จะเป็นรถวิ่งยาวไปถึงด่านเจดีย์สามองค์

รถตู้ขึ้นได้ที่หน้ากองสลาก หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์เก่า และที่หมอชิต  ถ้าที่หมอชิตจะวิ่งออกเส้นสุพรรณ  ผ่านทางแยกนพวงศ์

รถไฟ ขึ้นที่สถานีธนบุรี ใช้เวลา ๔.๓๐ ชั่วโมง ถ้าไม่เสียเวลาอะไรนะครับ อาจจนานไปนิด แต่ผมรับรองว่าทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟสวยงามมากๆ คุ้มค่ากับการเสียเวลาแน่นอน   ถ้าเข้าสถานีลำบากเพราะไม่มีรถเมล์ผ่าน  รอขึ้นรถตรงที่หยุดรถจรัญสนิทวงศ์ก็ได้ ตรงข้างๆสวนบางขุนศรี

วันหยุดนี้ไม่รู้จะไปพักผ่อน หรือ เที่ยวที่ไหน แนะนำเมืองกาญจน์ครับ กลับมาไม่ติดใจเหมือนผมให้รู้ไปซีเอ้า!!





ปลายี่สก ปลาประจำจังหวัดเมืองกาญจน์



บล็อกหน้าจะพาชมวิวสองข้างทางรถไฟ พร้อมพาเที่ยวน้ำตกไทรโยคน้อย  กับตัวเมืองครับ