วันจันทร์, พฤศจิกายน 08, 2553

ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

การโดยสารรถไฟ ถือเป็นเสน่ห์ของการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง สู่จังหวัดชายแดนตะวันตกแห่งนี้  แม้ใช้เวลาค่อนข้างนาน หากทิวทัศน์งดงามตลอดสองข้างทางรถไฟ ถือเป็นรางวัลตอบแทนอันแสนจะคุ้มค่า











 ทิวทัศน์ตลอดสองทางรถไฟ



ไม่เพียงผู้มาเยือนจะตื่นตากับพรรณไม้นานาชนิด  ทางรถไฟตั้งแต่สถานีชุมทางหนองปลาดุกไปจนถึงสถานีน้ำตก ยังเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่คนทั่วโลกรู้จักดีในนาม  "ทางรถไฟสายมรณะ"  นักเดินทางสามารถเหยียบย่ำตามรอยทางที่เหล่าเชลยศึกเคยล่วงผ่านด้วยความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสมาแล้ว



รู้จักกับทางรถไฟสายมรณะ

พลันที่ญี่ปุ่นประกาศ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" การบุกยึดประเทศแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มต้นขึ้น พม่าคือหนึ่งในดินแดนสมรภูมิ ที่ทัพอาทิตย์อุทัยใช้ผ่านไปตีอังกฤษที่อินเดีย

เมื่อเส้นทางลำเลียงทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาถูกโจมตีบ่อยครั้ง  กองทัพญี่ปุ่นจึงมีมติให้สร้างทางรถไฟเชื่อมไทยกับพม่า โดยเริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก  จังหวัดราชบุรี สิ้นสุดที่สถานี ธันบูซายัตในประเทศพม่า  ระยะทางทั้งสิ้นสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในเขตไทย ๓๐๓. ๙๕ กิโลเมตร

แรกเริ่มญี่ปุ่นตั้งใจใช้เครื่องมือก่อสร้างและยุทโธปกรณ์จากประเทศตัวเอง แต่เมื่อเรือลำเลียงโดนรบกวนบ่อยครั้ง  กอปรกับ "เบื้องบน" เร่งรัดให้รีบสร้างทางรถไฟสายนี้ให้เสร็จโดยเร็ว  บทสรุปสุดท้ายจึงลงเอยด้วยความโหดร้าย และการล้มตายของเหล่าเชลยศึก กับกรรมกรรับจ้างนับหมื่นนับแสน  ถึงขนาดมีคำเปรียบเทียบที่ว่า  "หนึ่งไม้หมอนเท่ากับหนึ่งชีวิต"


หลังสงครามสงบ  ทางการอังกฤษรื้อถอนทางรถไฟจากด่านเจดีย์เข้ามา ต่อมารัฐบาลไทยได้ขอซื้อทางรถไฟคืนจากประเทศสัมพันธมิตร ทำการปรับปรุงเส้นทางใหม่  เปิดใช้เส้นทาง หนองปลาดุก-กาญจนบุรีในช่วงแรก  จนพ.ศ. ๒๔๙๒ จึงขยายเส้นทานถึงสถานีน้ำตก อันเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะในปัจจุบัน ส่วนเส้นทางที่หลงเหลืออื่นๆ ยังมีร่องรอยให้พบเห็นได้ที่  ช่องเขาขาด ด่านเจดีย์สามองค์ ค่ายไทรโยค


ขบวนรถไฟ ธนบุรี-น้ำตกมีวิ่งทุกวัน วันละ ๒เที่ยว เที่ยวแรกออกเวลา ๐๗.๔๕น. อีกขบวนผมไม่แน่ใจนัก ลองสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๑๖๙๐ วันเสาร์-อาทิตย์มีขบวนรถไฟพิเศษนำเที่ยว แต่ต้องขึ้นที่หัวลำโพง

๐๗.๔๐ คือเวลาขบวนรถธรรมดา ๒๕๗ เข้าเทียบชานชาลา  กว่าขบวนรถจะออกได้ก็เกือบแปดโมง ซึ่งอันนี้ผมชินเสียแล้ว เวลาเดินรถไฟช่างไม่แน่อนเสียจริงๆ

ผมเลือกนั่งซ้ายมือของขบวนรถ เพราะเจ้าถิ่นเมืองกาญจน์แนะนำมาว่า นั่งซ้ายมือเห็นวิวสวยกว่าอีกด้านหนึ่ง  ราวเก้าโมง รถถึงนครปฐม ถ้าใครเริ่มหิว ที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้านำของกิน-น้ำ้ดื่มขึ้นมาเร่ขาย  ผมลองกินลูกชิ้นทอดไม้ละสิบบาท รสชาติถือว่าพอใช้ได้  แต่พกเสบียงมาเองน่าจะดีกว่า


ออกจากนครปฐม ภาพทุ่งหญ้าทุ่งนาเขียวขจีทยอยอวดโฉมเป็นระยะ  เมื่อถึงสถานีบางตาล ตึกรามบ้านช่องไม่มีให้เห็นแล้ว  ท้องฟ้าสีฟ้า ทุ่งหญ้าสีเขียว ฝูงวัวยืนเล็มหญ้าสบายใจ บางตัวก็นอนเล่นรับลมเย็นที่พัดโชยมา  อ้อ ช่วงสถานีบางตาลมีทิวสนลู่รับลมให้เห็นทั้งสองฝั่งด้วย



ทิวสนที่สถานีคลองบางตาล




ทิวสนด้านขวามือรถไฟ

ถึงกาญจนบุรีเกือบสิบเอ็ดโมง  รอหลีกรถไฟท่องเที่ยวไปสิงคโปร์อีก ๓๐นาที  ที่จริงน่าจะประกาศให้ผู้โดยสารรู้ พราะบางคนไม่เคยมากาญจน์ ก็งงไปเถอะรถไฟจอดทำไมตั้งนาน

พบทิวเขาแรก ณ ที่หยุดรถทุ่งทอง

และทิวเขาต่อๆไป ...






ออกจากกาญจนบุรีมุ่งสู่สะพานข้ามแม่น้ำแคว จุดนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่ไปเที่ยวถ้ำกระแซ ตู้รถไฟที่เงียบสงบก็เริ่มจอแจครึกครื้นมีชิวิตชีวาขึ้นมา


"สะพานข้ามแม่น้ำแคว"
ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่ง  เริ่มต้นจากการสร้างสะพานไม้ลำเลียงอุปกรณ์ต่างๆข้ามไปก่อน โดยใช้วิธีตอกซุงลงแม่น้ำ ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะสร้างช่วงแม่น้ำแควแห้งพอดี จากนั้นจึงสร้างสะพานเหล็กตามหลัง ปัจจุบันแนวสะพานไม้เดิมอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลก ใกล้ๆกับสะพานแควใหญ่ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เล่าว่า ช่วงปี ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕ ยังเห็นแนวสะพานไม้ได้ชัดเจนตลอด








ในที่สด  ผมก็มาถึงจุดสำคัญจุดหนึ่งของทางรถไฟมรณะ  นั่นคือสถานีถ้ำกระแซ เส้นทางนี้เป็นช่วงยากอีกช่วงหนึ่งของการก่อสร้าง  ไหนจะด้านหนึ่งเป็นโตรกผาสูง  ไหนจะด้านหนึ่งเป็นลำเเควน้อยเชี่ยวกราก ถ้านักท่องเที่ยวเลือกนั่งซ้ายมือสุดท้ายขบวน จะสามารถถ่ายภาพรถไฟแล่นเลียบไปตามโค้งหน้าผาได้เห็นทั้งขบวน


ที่ถ้ำกระแซนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินชมภายในถ้ำ  หรือเดินเล่นตามทางรถไฟ  แต่ข้อควรระวังในการเดินตามทางรถไฟ คือ ต้องเช็กเวลากับนายสถานีให้ดีๆ มิฉะนั้นเดินๆอยู่ อาจจ๊ะเอ๋กับหัวรถจักรเข้าได้  อีกทั้งต้องคอยระวัง รถจักรยานกับรถโยกที่อาจมีสวนมาเป็นระยะ สุดท้ายคือลิงจ๋อเจ้าถิ่น ถ้าอยากให้อาหารลิงอย่าให้กับมือ และอย่าเก็บอาหารใส่กระเป๋า เพราะถ้ามันกินไม่อิ่ม มันจะแย่งกระเป๋าคุณไปหาของกินเอง ถ้าคิดแย่งกลับอาจโดนมันขู่และสู้ ชนิดไม่เลิก

แม่น้ำแควน้อย ที่ถ้ำกระแซ

















สุดทางที่สถานีน้ำตกประมาณบ่ายโมง แวะหาอาหารใส่ท้องก่อนเดินทางไปน้ำตกไทรโยคน้อย ที่นี่มีรถสองแถววิ่งบริการตลอดวัน หรือชอบสองล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็มีบริการเช่นกัน  แต่จะเลือกไปทานมื้อเที่ยงที่ตัวน้ำตก หรืออุทยานแห่งชาติไทรโยคก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

น้ำตกไทรโยคสวยงดงามเพียงใดนั้น  สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ได้ทรงประพันธ์เพลงเขมรไทรโยคไว้ บรรรยายถึงความงามของสายน้ำตกได้เป็นอย่างดี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้าเอง ก็เสด็จประพาสชมน้ำตกถึงสองครั้ง แสดงถึงความพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง

ขบวนรถ ๒๕๗ถึงสถานีน้ำตก หยุดพักราว๒๐นาทีก็ตีกลับกรุงเทพ รถไฟกลับกรุงเทพออกอีกครั้ง ๐๕.๒๐ของทุกวัน นอกจากนี้ยังมีรถไฟท้องถิ่นวิ่งระหว่างน้ำตก- กาญจนบุรีอีกด้วย สอบถามเวลาที่นายสถานีรถไฟน้ำตกอีกครั้งก่อนขึ้นขบวนรถ  เพราะอย่างที่บอกแต่แรก  รถไฟไทยถึงเก๊าะช่าง  ไม่ถึงเก๊าะช่าง จริงๆนะเออ












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น