วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 18, 2553

ปากแพรกย่านเก่า บนเงาของวันวาน

เข็มนาฬิกาชี้เวลาบ่ายสอง หากกระแสลมหนาวที่พัดพลิ้วเอื่อยมาเป็นระยะ ผมจึงเดินเรื่อยเปื่อยไปตามริมบาทวิถีได้อย่างไม่ลำบากนัก ภาพอาคารเก่า สลับภาพวิถีชีวิตชุมชน  มองดูราวกับผมกำลังเดินทางย้อนเวลาสู่เมื่อช่วงครึ่งศตวรรษที่แล้ว หรือเดินอยู่ในฉากของหนังพีเรียดสักเรื่อง




บนถนนสายสั้นที่ยาวร่วม ๒ กิโลเมตร  ใครเลยจะนึกว่าได้จดจารร่องรอยของนักเดินทางมากมาย  กลายเป็นเรื่องเล่าให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ถ่ายทอดต่อลูกหลานถึงความทรงจำอันน่าประทับใจ






ขณะที่ใครหลายคนนิยมการเปลี่ยนแปลง  ชมชอบความศิวิไลซ์ ทว่าผมกลับพอใจเลือกจะเก็บจำบางห้วงเวลาแห่งอดีตไว้  มันไม่ใช่เรื่องของการจ่อมจม  มันไม่ใช่เรื่องของการไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก  แต่เป็นเพราะสิ่งเก่าๆเหล่านี้ มันมีค่าพอสำหรับการหวงแหน ดูแล  และเก็บมันไว้ในช่วงผ่านของกาลเวลา




กาญจนบุรีมีหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับมาจากสมัยขอมเรืองอำนาจ ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผมรับรู้จากชั่วโมงสังคมสมัยประถมว่า นี่คือเมืองหน้าด่านสำคัญที่มีผลต่อความอยู่รอดของไทย และเป็นสมรภูมิระหว่างไทยกับพม่าอยู่เนืองๆ อิทธิพลของสงครามทำให้เกิดการอพยพโยกย้าย รวมไปถึงการกวาดต้อนเทครัว จึงไม่แปลกที่กาญจนบุรีจะเป็นแหล่งรวมของคนหลายเชื้อชาติ ทั้ง ไทย มอญ ญวน จีน  ปกากะญอ



พุทธศักราช ๒๓๗๔  รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายเมืองจากเดิมทึ่ทุ่งลาดหญ้า  มายังตำบลริมแม่น้ำแควใหญ่ ป้อมปราการ กำแพงเมือง ตัวอาคารเก่าแก่ต่างๆ กับผู้คนมากมายคึกคัก เป็นสิ่งที่บอกผู้มาเยือนได้ดีว่า ถนนปากแพรกแห่งนี้คือจุดต่อยอดความรุ่งเรืองของเมืองกาญจน์อย่างแท้จริง




ผมเริ่มต้นจากห้องแถว ๓ คูหาสีเหลืองสดสะดุดตา "บ้านสิทธิสังข์" ที่ปัจจุบันเปิดเป็นร้านกาแฟสด ปรับปรุงตัวบ้านให้ดูร่วมสมัย แต่การออกแบบตกแต่งยังคงความเก่าไว้ได้แบบเนียนๆ โค้งอาร์กบนชั้นสองของตึก ตรึงเท้าผมให้ยืนพิจารณาอยู่เนิ่นนาน ฉลุไม้เหนือกรอบประตู กับภาพปูนปั้นลายก้านขด บอกถึงฝีมืออันปราณีตของช่าง กับรสนิยมของผู้อยู่อาศัย



ฝั่งตรงข้ามกันคือโรงแรมสุมิตราคาร  โรงแรมแห่งแรกในกาญจนบุรี อดีตที่นี่คือแหล่งรวมผู้คน ทั้งที่เป็นผู้ผ่านทาง และผู้ติดต่อราชการ ปัจจุบันห้องแถวไม้ ๕ คูหากลายเป็นร้านขายอาหารสัตว์ ส่วนข้างบนแยกห้องปล่อยให้เช่า






เดินอีกไม่นานผมผ่านมาถึง "อาคารสิริโอสถ" นี่คืออาคาร ๓ ชั้น หลังแรกๆบนปากแพรก สถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าทำให้ผมหยุดดูด้วยความสนใจเป็นพิเศษ และยิ่งทึ่งหนักไปอีก เมื่อรู้ว่า ตึกกึ่งปูนกึ่งไม้หลังนี้ก้าวผ่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาอย่างน่าจดจำ




พ.ศ. ๒๔๘๕ ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองกาญจน์เพื่อสร้างทางรถไฟไปพม่า ปากแพรกคือแหล่งสินค้าที่ใกล้ค่ายทหารที่สุด ร้านค้าหลายแห่งถูกผูกขาดการค้ากับญี่ปุ่น รวมถึงร้านสิริโอสถแห่งนี้


แม้ความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นจะเป็นที่เลื่องชื่อ หากไม่ทำให้น้ำใจและความเอื้ออาทรของชายนาม "บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์" ลดน้อยลงได้ การช่วยเหลือเป็นไปในรูปของ ข้าวของสารพัดที่ถูกซุกซ่อนในเข่งผัก เงินทองที่ให้หยิบยืมโดยไม่รู้โอกาสจะได้คืน และความที่ทหารญี่ปุ่นไว้ใจให้เข้าไปส่งของได้ถึงในค่าย นายบุญผ่องจึงมีหน้าที่ส่งจดหมายลับให้กับองค์กรต่างๆ อย่างองค์การลับวี (V.MEN CLUB)




หลังสงครามผ่านพ้น นายบุญผ่องย้ายมาปักหลักที่กรุงเทพ ประกอบธุรกิจรถเมล์โดยสารจากรถเกือบ ๒๐๐ คันของกองทัพญี่ปุ่นที่เหลือจากสงคราม ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรยกให้เป็นการตอบแทน นี่คือความซาบซึ้งใจที่มีต่อคนเล็กๆคนหนึ่งบนถนนปากแพรก ไม่รวมถึงการได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ และยศพันโทจากกองทัพอังกฤษ


จากร้านสิริโอสถ เดินต่อไปถึงร้านชวนพานิช ผมแวะนั่งพูดคุยกับลุงสุรพล ตันติวานิช เจ้าของร้าน เขาชี้ชวนให้ดูตู้สินค้าไม้สักติดกับผนัง มันไม่เคยมีปัญหาให้ต้องซ่อมแซมแต่อย่างใด "บ้านตึกแต่ก่อนนั้นสร้างดี ใช้ของดี เลยทนนาน" ลุงสุรพลว่าอย่างนั้น


ติดกันคือร้านมาโนชราดิโอ  ที่เจ้าของร้านเป็นญาติกับลุงสุรพล ซึ่งต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อก่อนใครอยากทันสมัยก็ต้องมาที่นี่ แต่วันนี้ที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่โตคืบคลานมาเยือน คงไม่มีใครถวิลหาร้านค้าที่มีสัมพันธภาพระหว่างคนซื้อคนขายแบบนี้อีกแล้วกระมัง


 







 ผมเลาะผ่านความคึกคักของปากแพรกจนมาถึงสี่แยกเล็กๆ ซ้ายมือไปลงแม่น้ำ ขวามือเป็นวันเวย์ มองเห็นตึกแถวที่สร้างโดยตระกูลตันติวานิชยาวเหยียด ผมเดินต่อไปจนถึงโรงแรมกาญจนบุรีอันคร่ำเก่า แต่ตึก ๓ ชั้นที่สร้างจากปูนพอร์ตแลนด์ทั้งหลัง ยังคงความขรึม
ขลังไม่ต่างจากวันวาน  ฟากตรงข้ามคือบ้านฮั้วฮง บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้นสวยเนี้ยบ บ่งบอกว่าผู้ต่อยอดดูแลให้ความใส่ใจบ้านหลังนี้เพียงใด










เพราะเวลาจำกัด ผมเลยไม่อาจแวะพักที่ใดได้อีก รีบรุดฝีเท้าไปจนเห็นวัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือ อยู่ไม่ไกล  ห้องแถวแถบปลายๆ ปะปนกันไปทั้งเก่าคร่ำและที่ได้รับการดูแลสะอาดสอ้าน บางหลังเป็นฝีมือช่างเวียดนามโบราณ  บอกการลงหลักปักฐานของคนญวนไว้ตามโค้งประตู บานเฟี้ยม ทุกส่วนโทรมทรุดซีดเก่า ราวกับจะย้ำให้เราตระหนักถึงสัจจธรรมแท้จริงของคำว่าเวลา




เมื่อมองจากวัดเหนือย้อนกลับมายังปากแพรก ผมเห็นถนนสายหนึ่งที่เป็นตัวของตัวเองมาถึง ๑๗๗ ปี มิได้มีเพียงอาคารบ้านเรือนที่ล่วงผ่านคืนวันอันยายนาน แต่ยังมีแววตาอีกหลายคู่ที่ก้าวผ่านเวลานั้นมาพร้อมกัน และพร้อมจะมองย้อนเข้าไปในชีวิตที่ผ่านพ้นมาอย่างปีติสุข ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะดำเนินไป หรือจบลงเช่นใดก็ตาม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น